สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

หากมีผู้จัดการมรดกหลายคน ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งตาย จะต้อง

ดำเนินการกับทรัพย์มรดกอย่างไร

เมื่อบุคคลคนหนึ่งถึงแก่ความตายไป ย่อมมีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นทรัพย์มรดก ตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย ซึ่งทายาทจะเป็นผู้ใดนั้น จะต้องติดตามบทความของสำนักงานกฎหมายทนายความใหม่ต่อไป โดยในบทความนี้ จะกล่าวต่อไปว่า หากมีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายตกทอดแก่ทายาทแล้ว ย่อมต้องมีผู้จัดการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตาย ตามกฎหมายแล้ว เรียกว่า ผู้จัดการมรดก
หากปรากฎว่า ศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคนให้จัดการทรัพย์สินของผู้ตายแล้วจะต้องอาศัย
เสียงข้างมากในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายต่อไป จึงมีคำถามว่า หากผู้ตายมีผู้จัดการมรดกสองคนเป็นผู้จัดการมรดก ต่อไปผู้จัดการมรดกคนหนึ่งตาย ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไรบ้าง
 
หลักเกณฑ์ตามกฎหมายได้กำหนดเอาไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ "มาตรา 1726  ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
มาตรา 1736 วรรคาสอง ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ อนึ่ง ผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็น เพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก
 
จากหลักกฎหมายดังกล่าว กฎหมายกำหนดว่า ให้ผู้จัดการมรดกให้จัดการทรัพย์สินแลหนี้สินของกองมรดก โดยอาศัยเสียงข้างมาก หากไม่สามารถหาเสียงข้างมากได้ ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดดังนั้น หากผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว ย่อมไม่อาจดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกต่อไปได้ จึงต้องดำเนินการให้ศาลมีคำสั่งใหม่
 
จากกรณีตามปัญหามีคำตัดสินหรือคำพิพากษาของศาล ตัดสินไว้ดังนี้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพับ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" 
ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน
การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะ
ผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โดย ทนายความเชียงใหม่
 
 
 
 
 
 
 
 

กลับไปหน้า ความรู้กฎหมาย